วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การประเมินผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ระดับประถมศึกษา โรงเรียนพลวิทยา โดยใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model)

ความเป็นมา หลักการและเหตุผล
กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แทนหลักสูตรการศึกษาที่เน้าระบบช่วงชั้น หรือเทียบเท่าทุกฉบับที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งให้ใช้ก่อนหน้านี้ ปัญหาของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  ในเรื่อง  ปัญหาความสับสนของผู้ปฏิบัติระดับสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา  สถานศึกษาส่วนใหญ่กำหนดสาระการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้มาก  ทำให้เกิดปัญหาหลักสูตรแน่น  การวัดและประเมินผลไม่สะท้อนมาตรฐาน  ส่งผลต่อปัญหาการจัดทำเอกสารหลักฐานทางการศึกษา  และ  การเทียบโอนผลการเรียน  รวมทั้งปัญหาคุณภาพของผู้เรียนในด้านความรู้  ทักษะ  ความสามารถและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ (กระทรวงศึกษาธิการ 2551 : 1)  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551  นอกเหนือจากการกำหนดวิสัยทัศน์  หลักการ  จุดหมาย  สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน  คุณลักษณะอันพึงประสงค์  มาตรฐานการเรียนรู้แล้วยังได้ให้รายละเอียดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้  ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  มาตรฐานการเรียนรู้ระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้  มีคุณธรรม  จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์  ที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียน  เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน  นอกจากนั้น  มาตรฐานการเรียนรู้ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ  เพราะมาตรฐานการเรียนรู้จะสะท้อนให้ทราบว่าต้องการอะไร  ต้องสอนอะไร  จะสอนอย่างไร  และประเมินอย่างไร  รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา  รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้  รวมทั้งคุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น  ซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการเรียนรู้  มีความเฉพาะเจาะจงและมีความเป็นรูปธรรม  นำไปใช้ในการกำหนดเนื้อหา  จัดทำหน่วยการเรียนรู้  จัดการเรียนการสอน  และเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการวัดและประเมินผล  เพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน
ในการประกาศใช้หลักสูตรมีเงื่อนไขและเวลาการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้เป็นไปดังนี้ ปีการศึกษา 2552 ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนนำร่อง  ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป ให้ทุกโรงเรียนใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรแกนกลางระดับชาติที่มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ มีขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนให้สูงขึ้น สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความเป็นไทยและความเป็นสากล ในการจัดการศึกษา
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้  คุณธรรม  มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้ง เจตคติ ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ  การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต  โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ
โรงเรียนพลวิทยา  เป็นโรงเรียนที่ได้รับการ คัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในการใช้หลักสูตร ระดับประถมศึกษา ของจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา โดยใช้กรอบแนวคิดจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มาเป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตร และนำหลักสูตรไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นมา ซึ่งในการใช้ หลักสูตรที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรตามสภาพปัญหาที่พบอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรมีความครบถ้วนสมบูรณ์ จึงได้ดำเนินการประเมินหลักสูตรสถานศึกษา (ตามหลักสูตรการแกนกลางศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551) ระดับประถมศึกษา โรงเรียนพลวิทยา โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปโมเดล (CIPP Model) เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินการใช้หลักสูตร ไปใช้เป็นแนวทางในการ ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
กรอบแนวคิดการวิจัย
การประเมินการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ในครั้งนี้ใช้กรอบแนวคิดแนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา จากแนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551 : 18)โดยผู้วิจัยได้ยึดกระบวนการและขั้นตอนการจัดทำสาระของหลักสูตรสถานศึกษา ดังนี้
1. การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย
2. การกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์

3. การกำหนดโครงสร้างหลักสูตรของสถานศึกษา
4. การกำหนดรายวิชากลุ่มสาระการเรียนรู้
5. การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
6. การจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้
7. การวัดผลประเมินผล
8. การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อประเมินคุณภาพของนักเรียนและกระบวนการจัดการศึกษาของโรงเรียนตาม
จุดมุ่งหมายของหลักสูตร ในด้าน
1.1 ความรู้ความสามารถพื้นฐานด้าน 1. ความสามารถในการสื่อสาร 2.ความสามารถในการคิด 3.ความสามารถในการแก้ปัญหา 4.ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต 5.ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
1.2 ความรู้ความสามารถด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน
1.3 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษา
2. เพื่อประเมินกระบวนการจัดการศึกษาของโรงเรียนในด้าน
2.1 การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมาย
2.2 การกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน
2.3 การจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
2.4 การกำหนดรายวิชากลุ่มสาระการเรียนรู้
2.5 การกำหนดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2.6 การจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้
2.7 การวัดผลประเมินผล
2.8 การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา
3. เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน กับกระบวนการจัดการศึกษาของโรงเรียน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อพัฒนา คุณภาพการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1.1. จำนวนนักเรียนที่ประเมินคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ประกอบด้วย
1.1.1 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น จำนวน 500 คน
1.1.2 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จำนวน 500 คน
1.2 กลุ่มตัวอย่างการประเมินกระบวนการจัดการศึกษาของโรงเรียน ประกอบด้วย
2.1 ครู อาจารย์ และอาจารย์พิเศษ จำนวน 50 คน
2.2 นักเรียน ได้จากการสุ่ม ระดับชั้นละ 50 คน รวม 100 คน
2.3 ผู้ปกครองนักเรียน ได้จากการสุ่ม ระดับชั้นละ 50 คน รวม 100 คน
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ความสำเร็จหรือความสามารถในการเรียนที่เกิดขึ้น
กับตัวผู้เรียน โดยการเรียนในรายวิชาต่าง ๆ ในโรงเรียนตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรในระดับประถมศึกษา
2. ความรู้ความสามารถพื้นฐาน หมายถึง ความสามารถทั่วไปที่เป็นพื้นฐานคงอยู่ติดตัว ผู้เรียนเมื่อผ่านกระบวนการของหลักสูตรในระดับชั้นที่กำหนด ในที่นี้คือ เมื่อนักเรียนจบประถมศึกษาตอนต้น ได้แก่ทักษะในการใช้ภาษาทักษะการคิดคำนวณ และทักษะทางวิทยาศาสตร์
3. ความรู้ความสามารถด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน หมายถึง ผลการเรียนรู้ที่ได้จากการอ่าน การเขียน การคิดระดับสูง เช่น ความสามารถในเชิงวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล
4. คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษา หมายถึง พฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออกในด้านต่าง ๆ จนเป็นนิสัย ตามที่โรงเรียนพลวิทยา กำหนดไว้ 8 ด้าน ได้แก่
     1. รักชาติ  ศาสน์ กษัตริย์
     2. ซื่อสัตย์สุจริต            
     3. มีวินัย
     4. ใฝ่เรียนรู้                    
     5. อยู่อย่างพอเพียง
     6. มุ่งมั่นในการทำงาน  
     7. รักความเป็นไทย
    8. มีจิตสาธารณะ
5. กระบวนการจัดการศึกษาของโรงเรียน หมายถึง แนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียน
ที่เป็นผลสะท้อนจากการใช้หลักสูตร ได้แก่
5.1 การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมาย
5.2 การกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน

5.3 การจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
5.4 การกำหนดรายวิชากลุ่มสาระการเรียนรู้
5.5 การกำหนดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
5.6 การจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้
5.7 การวัดผลประเมินผล
5.8 การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา
6. คะแนนจุดตัดหรือคะแนนจุดผ่าน (Passing Score) หมายถึง การกำหนดคะแนนเพื่อแบ่งกลุ่มตามความสามารถในด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือระดับดี ระดับปานกลาง และระดับที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สภาพปัจจุบันและทิศทางการประเมินในอนาคต

การประเมินโดยทั่วไป หมายถึง การรวบรวมสารสนเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด หากกล่าวถึงการประเมินแต่ละประเภทแล้ว สามารถแบ่งตามประเภทของสิ่งที่มุ่งประเมินได้ 7 กลุ่ม คือ 1) การประเมินนโยบายและแผน 2) การประเมินโครงการ 3) การประเมินองค์กร 4) การประเมินบุคคลากร 5) การประเมินหลักสูตรและการสอน 6) การประเมินผู้เรียน และ 7) การประเมินตนเอง ต่อไปนี้จะเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นความเหมือนและความแตกต่างของการประเมินแต่ละประเภท ตามสภาพ ลักษณะปัญหา และทิศทางการประเมินในอนาคต ดังนี้
สภาพทั่วไปของการประเมินจะมีกระบวนการหรือขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน ตั้งแต่การวิเคราะห์สิ่งที่มุ่งประเมิน กำหนดปัญหา ออกแบบการประเมินเรื่อยไปจนถึงการสรุป อภิปรายผลและการนำเสนอผลการประเมิน มีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่บ้างเช่น การประเมินบุคลากรจะมีลักษณะเฉพาะที่เน้นการประเมินความต้องการจำเป็น เพื่อการพัฒนาบุคลากร เพื่อการคัดสรรและการจัดวางตำแหน่ง หรือเพื่อประเมินการปฏิบัติรายบุคคล ซึ่งแตกต่างจากการประเมินหลักสูตรที่มักเป็นการประเมินแต่ละองค์ประกอบของหลักสูตรมากกว่า สำหรับด้านการประเมินผู้เรียน มีทั้งการประเมินความรู้ความสามารถ ประเมินทักษะปฏิบัติ และประเมินคุณลักษณะผู้เรียน ในปัจจุบันพระราชบัญญัติการศึกษาเน้นการประเมินผู้เรียนให้ตรงตามความเป็นจริงมากที่สุด จึงเกิดการประเมินตามสภาพจริงขึ้น ส่วนการประเมินตนเองนั้น เป็นได้ทั้งระดับองค์กร และระดับบุคคล มีทั้งการประเมินการบริหารโครงการ บริหารแผนงาน การประเมินการบริหารหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอน การประเมินการบริหารงานบุคคล รวมถึงการประเมินการบริหารองค์กร วัตถุประสงค์ของการประเมินตนเอง เพื่อแสดงความรับผิดชอบขององค์กร หรือบุคคลที่ปฏิบัติงาน และเพื่อมุ่งเน้นการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบการตัดสินคุณค่าเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน โดยผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้ประเมินตนเอง ซึ่งการประเมินตนเองนี้ อาจเป็นการประเมินผู้เรียน ประเมินบุคคลากร หรือประเมินองค์กรก็ได้ ( กระทรวงศึกษาธิการ,2542)
ต่อไปนี้เป็นการนำเสนอปัญหาอุปสรรคของการประเมินประเภทต่าง ๆ ซึ่งสามารถจำแนกตามเป้าของสิ่งที่มุ่งประเมินได้ดังนี้ 1) การประเมินนโยบายและแผน มีปัญหาจากระบบกล่าวคือ นโยบายและแผนมักถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง ทำให้ยากที่จะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาก่อนกำหนดนโยบาย ไม่มีการกำหนดเป้าหมายหรือดัชนีชี้วัดเพื่อการประเมินนโยบายและแผนไว้ล่วงหน้า มักทำการประเมินได้เฉพาะส่วน ไม่ครอบคลุมองค์ประกอบของนโยบายและแผนทั้งหมด และมักใช้เฉพาะข้อมูลทุติยภูมิในการประเมิน ทำให้ไม่สามารถได้ข้อมูลอย่างครอบคลุมทั้งในประเมินเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพได้ชัดเจน ส่งผลให้ผลการประเมินเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง และการนำผลการประเมินไปปรับปรุงแผนงานมีน้อย ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุของการระบุตัวผู้ดูแลนโยบายและแผนไม่ชัดเจน จึงเกิดการปฏิเสธเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติและติดตามแผนย่อยต่าง ๆ ขาดการวางแผนการนำผลการประเมินไปใช้ ขาดการประเมินอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ขาดเครื่องมือในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามแผน การรายงานผลที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริงเนื่องจากอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และเวลาในการประเมินมีไม่เพียงพอ 2) ปัญหาการประเมินโครงการมักเกิดจากวิธีการดำเนินงานในโครงการไม่เหมาะสม ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบ จึงเป็นอุปสรรคต่อการวางแผนการประเมิน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบโครงการบ่อย ๆ ทำให้การปฏิบัติงานในโครงการสะดุดหรือจำเป็นต้องยุติกลางคันในบางกรณี 3) ปัญหาการประเมินบุคคลากร ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน เช่น ผู้ถูกประเมินไม่ยอมรับผลการประเมิน ทัศนคติไม่ดีต่อผู้บริหารหรือทีมผู้ประเมินเป็นต้น หรือปัญหาจากเทคนิควิธีในการประเมินไม่เหมาะสม ไม่เปิดโอกาสให้ผู้กี่ยวข้องได้ประเมินแลกเปลี่ยนกัน มักเกิดขึ้นในการประเมินที่ดำเนินการโดยผู้มีอำนาจเบื้องบนขององค์กร ประเมินลงมา เพียงเส้นทางเดียว 4) ปัญหาการประเมินหลักสูตร เกิดจากนักประเมินขาดความรู้ความสามารถในระเบียบวิธีการประเมิน ขาดการศึกษาเพื่อให้เข้าใจหลักสูตรที่ทำการประเมินอย่างแท้จริงก่อนวางแผนออกแบบการประเมิน เพราะแต่ละหลักสูตรมีความแตกต่างกัน จึงต้องปรับยุทธวิธีในการประเมินเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับสถาบันการศึกษา หรือหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไป อีกประการหนึ่งการที่ผู้ประเมินขาดอำนาจในการประสานงานกับผู้ใช้หลักสูตร ผู้รับผลหรือผู้เกี่ยวข้องกับหลักสูตร เช่น ผู้ใช้บัณฑิต ผู้ให้ข้อมูลหลัก เพื่อการเก็บรวบรวมข้อมูล ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วนตามแผนการประเมินที่ออกแบบไว้ ปัญหาจากผู้ใช้ผลการประเมินไม่เห็นความสำคัญของการนำผลการประเมินไปปรับปรุงหลักสูตร หรือเห็นความสำคัญแต่ไม่มีอำนาจเพียงพอในการนำผลการประเมินไปพัฒนาหลักสูตรอย่างจริงจัง เป็นต้น 5) ปัญหาการประเมินผู้เรียน ได้แก่ ส่วนใหญ่เป็นการประเมินความรู้ทางสมองมากกว่าด้านอื่น ๆ อาจเกิดจากสาเหตุ ที่ผู้ประเมินขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการวัดและประเมินผล ขาดทักษะในการพัฒนาเครื่องมือการประเมินผู้เรียนที่มีคุณภาพ และผลการวัดไม่ตรงกับสภาพจริง เน้นการตัดสินผู้รียนเทียบกับผู้เรียนอื่น ๆ มากกว่าการวิเคราะห์การพัฒนาการของผู้เรียนเป็นรายบุคคล 6) ปัญหาการประเมินตนเอง ได้แก่ ผู้ประเมินขาดความรู้ความเข้าใจระเบียบวิธีการประเมิน การไม่เห็นความสำคัญของการประเมินตนเอง ขาดการวางแผนหรือเตรียมการประเมิน ปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการประเมินตนเองไม่ดี การประเมินตนเองโดยบิดเบือนข้อมูลไปจากความเป็นจริง ส่งผลให้ผลการประเมินไม่ตรงตามสภาพจริงของบุคคลหรอองค์กรนั้น จึงไม่สามารถนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงงานได้ เนื่องจาก ไม่อยู่บนพื้นฐานของความจริง อีกประการหนึ่งได้แก่การที่ผู้บริหารไม่เห็นความสำคัญของการนำผลการประเมินตนเองไปใช้เพื่อการปรับปรุงงานอย่างแท้จริง
สำหรับทิศทางการประเมินแต่ละประเภท มีดังต่อไปนี้ 1) ทิศทางการประเมินนโยบายและแผน ในช่วงก่อนการนำนโยบายและแผนไปปฏิบัติ ควรมีการศึกษานำร่อง ในรูปแบบกึ่งทดลอง และเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง สำหรับช่วงหลังการนำนโยบายไปปฏิบัติ จะต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ทั้งระหว่างดำเนินนโยบาย และแผน เพื่อประเมินความก้าวหน้า และปัญหาอุปสรรค และการประเมินหลังเสร็จสิ้นนโยบายและแผนนั้น ทั้ง เสร็จสิ้นระยะหนึ่ง ๆ และเสร็จสิ้นแผนรวมทั้งหมด ต้องประเมินผลลลัพธ์ ผลผลิต และผลกระทบทั้งทางตาง ทางอ้อม ทั้งทางบวกและทางลบตามความเป็นจริง โดยใช้สหวิทยาการประเมินอย่างหลากหลายมากขึ้น 2)ทิศทางการประเมินโครงการ จะต้องมีการประเมินโครงการใหญ่ ๆ ทั้งหมด ทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงการประเมินโครงการย่อย ๆ ที่ใช้แก้ไขวิกฤตของชุมชน องค์กร หรือของสถาบันต่าง ๆ ด้วย 3) ทิศทางการประเมินองค์กร ทั้งของภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาระบบการประเมินองค์กร การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานในการประเมินองค์กรแต่ละประเภท การวิเคราะห์องค์กรแห่งความเป็นเลิศ ซึ่งมีทั้งการประเมินตนเอง และการประเมินตามระบบประกันคุณภาพ 4) ทิศทางการประเมินบุคลากร จะเป็นการประเมินที่ใช้แหล่งข้อมูลที่หลากหลายมากขึ้น การพัฒนาเครื่องมือประเมิน ที่ช่วยให้สามารถประเมินได้ในสภาพการทำงานปกติ และการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการประเมินที่มีประสิทธิภาพเป็นต้น 5) ทิศทางการประเมินหลักสูตร ได้แก่ การใช้วิธีการประเมินที่หลากหลาย ประกอบกับการทำวิจัยเพื่อการประเมินหลักสูตรอย่างเป็นระบบมากขึ้น 6) ทิศทางการประเมินผู้เรียน นับจากปัจจุบันนี้เป็นต้นไป การประเมินผู้เรียนจะเน้นที่การประเมินตามสภาพจริงมากขึ้น โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนการสอน ได้แก่ เทคนิคการประเมินการปฏิบัติ การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน การประเมินด้วยการสังเกตพฤติกรรม การประเมินจาการสื่อสารส่วนบุคคล การให้ผู้เรียนรายงานตนเอง หรือประเมินจากบันทึกการสอนของครู จากแบบทดสอบ และแบบวัดคุณลักษณะ 7) ทิศทางการประเมินตนเอง จะมีการประเมินครบทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ ได้แก่ การประเมินความต้องการจำเป็น การประเมินความเป็นไปได้ เรื่อยไปจนถึงการประเมินผลผลิตและผลกระทบจากการดำเนินงาน เป็นต้น
โดยสรุปรูปแบบและขั้นตอนการประเมินถึงแม้เป้าของการประเมินจะแตกต่างกันก็ตาม แต่มักจะมีขั้นตอนการประเมินเป็นระบบที่คล้ายคลึงกัน ในอดีตการประเมินบางครั้ง อาจกระทำอย่างแยกส่วน มีการใช้ข้อมูลทุติยภูมิมากเนื่องจาก ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลปฐมภูมิได้ อีกทั้งการนำผลการประเมินไปใช้มีน้อย ผู้ประเมินยังไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของการประเมิน รวมถึงการเมืองของการประเมิน ส่งผลให้การนำเสนอผลการประเมินบิดเบือนไปจากความเป็นจริง ในยุคปัจจุบันนี้ จากสภาพการแข่งขันที่สูงขึ้นสูงขึ้น วัดคุณค่าขององค์กรเป็นรูปแบบการค้า ต้นทุน กำไรมากขึ้น ทั้งภาคธุระกิจและภาคการศึกษา ทำให้เกิดการตื่นตัวเพื่อการอยู่รอดขององค์กร การประเมินจึงเป้นความจำเป็นสำหรับทุกหน่วยงาน ทั้งโดยการประเมินตนเอง และการประเมินจากภายนอก เพื่อให้องค์กรสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถแข่งขันกับหน่วยงานประเภทเดียวกันได้ เป็นที่ต้องการของลูกค้าและผู้ใช้บริการ จึงเกิดการปรับทิศทางการประเมิน ในระบบย่อยหรือระดับปฏิบัติเริ่มเรียนรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบวิธีการประเมินและเห็นความสำคัญของการรายงานตนเองมากขึ้น นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีสำหรับการประเมินว่าเริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้างขึ้นทุกที จึงจะนำไปสู่การวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการประเมินต่าง ๆ มีการใช้วิทยวิธีการประเมินที่หลากหลาย และสอดคล้องกับสภาพจริงมากขึ้น เพื่อให้เกิดการตื่นตัวในการนำผลการประเมินไปปรับปรุงงานมากขึ้นตามไปด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มาทำความรู้จักหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๔๔ ให้เป็น
หลักสูตรแกนกลางของประเทศ โดยกำหนดจุดหมาย และมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายและกรอบ
ทิศทางในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีขีดความสามารถใน
การแข่งขันในเวทีระดับโลก
หลักสูตรให้มีความสอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ
แก้ไขเพิ่มเติม
สถานศึกษาได้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพ และความ
ต้องการของท้องถิ่น
(กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๔) พร้อมกันนี้ได้ปรับกระบวนการพัฒนา.. ๒๕๔๒ และที่(ฉบับที่ ๒) .. ๒๕๔๕ ที่มุ่งเน้นการกระจายอำนาจทางการศึกษาให้ท้องถิ่นและ(สำนักนายกรัฐมนตรี, ๒๕๔๒)