วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การประเมินผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ระดับประถมศึกษา โรงเรียนพลวิทยา โดยใช้รูปแบบซิปโมเดล (CIPP Model)

ความเป็นมา หลักการและเหตุผล
กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แทนหลักสูตรการศึกษาที่เน้าระบบช่วงชั้น หรือเทียบเท่าทุกฉบับที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีคำสั่งให้ใช้ก่อนหน้านี้ ปัญหาของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  ในเรื่อง  ปัญหาความสับสนของผู้ปฏิบัติระดับสถานศึกษาในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา  สถานศึกษาส่วนใหญ่กำหนดสาระการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวังไว้มาก  ทำให้เกิดปัญหาหลักสูตรแน่น  การวัดและประเมินผลไม่สะท้อนมาตรฐาน  ส่งผลต่อปัญหาการจัดทำเอกสารหลักฐานทางการศึกษา  และ  การเทียบโอนผลการเรียน  รวมทั้งปัญหาคุณภาพของผู้เรียนในด้านความรู้  ทักษะ  ความสามารถและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ (กระทรวงศึกษาธิการ 2551 : 1)  หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551  นอกเหนือจากการกำหนดวิสัยทัศน์  หลักการ  จุดหมาย  สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน  คุณลักษณะอันพึงประสงค์  มาตรฐานการเรียนรู้แล้วยังได้ให้รายละเอียดในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้  ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน  มาตรฐานการเรียนรู้ระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้  มีคุณธรรม  จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์  ที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียน  เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน  นอกจากนั้น  มาตรฐานการเรียนรู้ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ  เพราะมาตรฐานการเรียนรู้จะสะท้อนให้ทราบว่าต้องการอะไร  ต้องสอนอะไร  จะสอนอย่างไร  และประเมินอย่างไร  รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา  รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้และปฏิบัติได้  รวมทั้งคุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น  ซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการเรียนรู้  มีความเฉพาะเจาะจงและมีความเป็นรูปธรรม  นำไปใช้ในการกำหนดเนื้อหา  จัดทำหน่วยการเรียนรู้  จัดการเรียนการสอน  และเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการวัดและประเมินผล  เพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน
ในการประกาศใช้หลักสูตรมีเงื่อนไขและเวลาการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้เป็นไปดังนี้ ปีการศึกษา 2552 ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในโรงเรียนต้นแบบและโรงเรียนนำร่อง  ตั้งแต่ปีการศึกษา 2553 เป็นต้นไป ให้ทุกโรงเรียนใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรแกนกลางระดับชาติที่มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข และมีความเป็นไทย มีศักยภาพในการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพ มีขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนให้สูงขึ้น สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของความเป็นไทยและความเป็นสากล ในการจัดการศึกษา
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคน ซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้  คุณธรรม  มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข   มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้ง เจตคติ ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ  การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต  โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่า ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ
โรงเรียนพลวิทยา  เป็นโรงเรียนที่ได้รับการ คัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในการใช้หลักสูตร ระดับประถมศึกษา ของจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา โดยใช้กรอบแนวคิดจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มาเป็นแนวทางในการจัดทำหลักสูตร และนำหลักสูตรไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นมา ซึ่งในการใช้ หลักสูตรที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรตามสภาพปัญหาที่พบอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรมีความครบถ้วนสมบูรณ์ จึงได้ดำเนินการประเมินหลักสูตรสถานศึกษา (ตามหลักสูตรการแกนกลางศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551) ระดับประถมศึกษา โรงเรียนพลวิทยา โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปโมเดล (CIPP Model) เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินการใช้หลักสูตร ไปใช้เป็นแนวทางในการ ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
กรอบแนวคิดการวิจัย
การประเมินการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ในครั้งนี้ใช้กรอบแนวคิดแนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา จากแนวทางการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551 : 18)โดยผู้วิจัยได้ยึดกระบวนการและขั้นตอนการจัดทำสาระของหลักสูตรสถานศึกษา ดังนี้
1. การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย
2. การกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์

3. การกำหนดโครงสร้างหลักสูตรของสถานศึกษา
4. การกำหนดรายวิชากลุ่มสาระการเรียนรู้
5. การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
6. การจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้
7. การวัดผลประเมินผล
8. การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อประเมินคุณภาพของนักเรียนและกระบวนการจัดการศึกษาของโรงเรียนตาม
จุดมุ่งหมายของหลักสูตร ในด้าน
1.1 ความรู้ความสามารถพื้นฐานด้าน 1. ความสามารถในการสื่อสาร 2.ความสามารถในการคิด 3.ความสามารถในการแก้ปัญหา 4.ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต 5.ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี
1.2 ความรู้ความสามารถด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน
1.3 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษา
2. เพื่อประเมินกระบวนการจัดการศึกษาของโรงเรียนในด้าน
2.1 การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมาย
2.2 การกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน
2.3 การจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
2.4 การกำหนดรายวิชากลุ่มสาระการเรียนรู้
2.5 การกำหนดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2.6 การจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้
2.7 การวัดผลประเมินผล
2.8 การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา
3. เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน กับกระบวนการจัดการศึกษาของโรงเรียน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อพัฒนา คุณภาพการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้นต่อไป
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
1.1. จำนวนนักเรียนที่ประเมินคุณภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ประกอบด้วย
1.1.1 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น จำนวน 500 คน
1.1.2 นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย จำนวน 500 คน
1.2 กลุ่มตัวอย่างการประเมินกระบวนการจัดการศึกษาของโรงเรียน ประกอบด้วย
2.1 ครู อาจารย์ และอาจารย์พิเศษ จำนวน 50 คน
2.2 นักเรียน ได้จากการสุ่ม ระดับชั้นละ 50 คน รวม 100 คน
2.3 ผู้ปกครองนักเรียน ได้จากการสุ่ม ระดับชั้นละ 50 คน รวม 100 คน
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หมายถึง ความสำเร็จหรือความสามารถในการเรียนที่เกิดขึ้น
กับตัวผู้เรียน โดยการเรียนในรายวิชาต่าง ๆ ในโรงเรียนตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรในระดับประถมศึกษา
2. ความรู้ความสามารถพื้นฐาน หมายถึง ความสามารถทั่วไปที่เป็นพื้นฐานคงอยู่ติดตัว ผู้เรียนเมื่อผ่านกระบวนการของหลักสูตรในระดับชั้นที่กำหนด ในที่นี้คือ เมื่อนักเรียนจบประถมศึกษาตอนต้น ได้แก่ทักษะในการใช้ภาษาทักษะการคิดคำนวณ และทักษะทางวิทยาศาสตร์
3. ความรู้ความสามารถด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียน หมายถึง ผลการเรียนรู้ที่ได้จากการอ่าน การเขียน การคิดระดับสูง เช่น ความสามารถในเชิงวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล
4. คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษา หมายถึง พฤติกรรมที่นักเรียนแสดงออกในด้านต่าง ๆ จนเป็นนิสัย ตามที่โรงเรียนพลวิทยา กำหนดไว้ 8 ด้าน ได้แก่
     1. รักชาติ  ศาสน์ กษัตริย์
     2. ซื่อสัตย์สุจริต            
     3. มีวินัย
     4. ใฝ่เรียนรู้                    
     5. อยู่อย่างพอเพียง
     6. มุ่งมั่นในการทำงาน  
     7. รักความเป็นไทย
    8. มีจิตสาธารณะ
5. กระบวนการจัดการศึกษาของโรงเรียน หมายถึง แนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียน
ที่เป็นผลสะท้อนจากการใช้หลักสูตร ได้แก่
5.1 การกำหนดวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมาย
5.2 การกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน

5.3 การจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา
5.4 การกำหนดรายวิชากลุ่มสาระการเรียนรู้
5.5 การกำหนดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
5.6 การจัดการเรียนรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้
5.7 การวัดผลประเมินผล
5.8 การบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษา
6. คะแนนจุดตัดหรือคะแนนจุดผ่าน (Passing Score) หมายถึง การกำหนดคะแนนเพื่อแบ่งกลุ่มตามความสามารถในด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือระดับดี ระดับปานกลาง และระดับที่ต้องปรับปรุงแก้ไข

1 ความคิดเห็น:

  1. กิจกรรมดีมากๆค่ะ อยากให้มีการประเมินหลักสูตรที่ปรับตัวชี้วัดใหม่ด้วยค่ะ

    ตอบลบ